วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ภาษารัก



คู่รักจำนวนไม่น้อยเลยที่สร้างความรักขึ้นมาด้วยใจ สานสัมพันธ์สายใยกันด้วยชีวิต แต่กลับทำลายด้วยภาษาอันไม่เข้าท่าแลไม่ควร จนเกิดความเสียหายที่ไม่ปราถนาตามมามากมาย ภาษารักจึงเป็นระบบการสื่อสัมพันธ์ของคนทั้งสอง ให้ตรงตามจริงและตามวัตถุประสงค์มุ่งหวัง เป็นภาษาที่ต้องรู้ เข้าใจ ฝึกให้ดี ใช้ให้เป็น และบริหารให้เกิดประโยชน์


1.ภาษาใจ เป็นการส่งรับด้วยจิตนิ่งเป็นหนึ่ง เมื่อจิตว่าง การรับรู้จะชัดเจน แจ่มใส และแม่นยำ การส่งการรับภาษาใจนี้จะก่อให้เกิดความเข้าใจ และความประทับใจในความสัมพันธ์กันมาก ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานของคนสองคน ที่จะเป็นคู่ชีวิตใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

2.ภาษาสายตา เป็นภาษาที่ลึกซึ้งและเที่ยงตรงที่สุดเพราะหลอกกันไม่ได้ วิธีการส่งภาษาใจออกมาเป็นภาษาตานั้น เพียงแผ่ความรู้สึกลึกๆในใจออกมา ความรู้สึกนั้นก็จะฉายออกมาทางแววตา แววตาของมนุษย์สามารถบอกสิ่งต่างๆมากมาย จนกล่าวว่า "ดวงตา คือหน้าต่างของหัวใจ"

3.ภาษายิ้ม ยิ้มเป็นสิ่งที่บ่งบอกและแสดงความเป็นไปของผู้ยิ้ม การกำหนดยิ้ม เกิดจากสภาวะทั้งภายใน ภายนอก และจากอุปนิสัย โดยแบ่งเป็น 3 แบบของยิ้ม คือ ยิ้มแบบมีความสุข ยิ้มแบบเหนื่อยๆ และยิ้มแบบขอไปที การยิ้มมีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นเราจึงควรฝึกยิ้มให้มีเสน่ห์ และมีความสุข ดังนี้

1) ยิ้มจากใจ
2) ยิ้มหมด
3) ยิ้มเปล่งประกาย
4) ยิ้มให้พอดี
5) ยิ้มให้ปรากฎ
6) ยิ้มให้ถูกกาละเทศะ
7) ยิ้มให้ถูกวัตถุประสงค์
8) ยิ้มอย่างทรงพลัง
9) ยิ้มทั้งตา

4.ภาษาวาจา คำพูดทุกคำที่เปล่งออกมาจะมีพลังอยู่ในตัว และซึมซาบเข้าสู่ผู้ฟัง สามารถใช้สร้างสรรค์หรือทำลายก็ได้ พลังแห่งคำพูดมี 2 องค์ประกอบ คือ พลังแห่งเสียง และพลังแห่งความหมาย ดังนั้นจึงต้องกลั่นกรองวาจาก่อนเจรจาใดๆ ทุกครั้งที่พูดให้ใคร่ครวญในสิ่งที่พูดว่าเป็นจริงหรือเปล่า เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ความเข้าใจที่ถูกต้องจะต้องอยู่บนพื้นฐาน ของความจริงเท่านั้น การพูดเท็จจึงเป็นการสร้างความเข้าใจผิด และเป็นการทำลายระบบสัจจะ ก่อให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งนี้อย่าคิดว่าอีกฝ่ายจะเข้าใจความหมายได้เอง ภาษาวาจามีอานุภาพมาก มีทั้งประโยชน์และโทษถ้าไม่ระมัดระวังคำพูด ดังนั้นทุกครั้งที่พูดควรกลั่นกรองคำพูด เพื่อจรรโลงใจยังความรักให้งอกงามสถาพร

5.ภาษาท่าทาง ท่าทางอันจรรโลงรักให้ภาคภูมิ งดงาม และยังความมั่นใจในสัมพันธภาพ คือ 1) บุคคลิกอันงามสง่า 2) กิริยาที่สำรวม 3) อิริยาบถอันสมดุล 4) ท่วงท่าอันมั่นคง 5) ท่าทีจริงจังที่ปล่อยวาง จึงจะได้ความมั่นคงอันอบอุ่น และความสบายใจอันเป็นรากฐานแห่งความสุข

6.ภาษาสัมผัส เป็นอีกระบบภาษาหนึ่งที่คู่รักชอบใช้กัน เช่นการโอบกอด ภาษาสัมผัสเป็นการถ่ายทอด หรือแลกเปลี่ยนพลังระหว่างบุคคล การสัมผัสควรพิถีพิถันบรรจง อ่อนโยน ทะนุถนอม นุ่มนวลและหนักแน่นเป็นการเกื้อกูลกันให้เกิดพลังมาก สมานสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

7.ภาษาพฤติกรรม รักแท้ที่จริงมิใช่คำพูด แต่ต้องฉายออกมาจริงทุกระดับทั้งใจ แววตา ยิ้ม วาจา ท่าทาง สัมผัส และพฤติกรรม ดังนั้นภาษาพฤติกรรมจึงเป็นภาษารักแห่งยั่งยืน

8.ภาษาสัมพันธ์ คือการจัดสมดุลให้แก่ชีวิตคู่ ให้สัมพันธภาพคงอยู่เสมออย่างบริสุทธิ์ใจ มั่นคง ลงตัว เข้ากันได้อย่างดี ให้คู่รักทั้งสองร่วมกันพัฒนายิ่งๆขึ้น จนกว่าสัมพันธภาพนั้นนิรันดร

9.ภาษาแห่งความสงบ ในบรรดาภาษาทั้งหลาย ภาษาแห่งความสงบเป็นภาษาที่ทรงอานุภาพสูงสุด เมื่อใดที่เข้าถึงความสงบได้ ความสุขจึงปรากฎ ความเข้าใจเที่ยงตรงตามจริงจึงแจ่มชัด ความตั้งใจเชิงสร้างสรรค์จึงพรั่งพรู จรรยามารยาทอันงดงามจึงส่องแสง ความอ่อนโยนจึงยังความอบอุ่นให้บังเกิดสัมผัสจึงทราบซึ้ง สัมพันธภาพจึงมั่นคง ดังนั้นภาษาแห่งความสงบจึงเป็นที่สุดแห่งภาษารักทั้งมวล


ดังนี้เองการสื่อภาษารักใดๆนั้นจะทรงพลัง มีค่าความเที่ยงตรง ความละเอียดอ่อน และความลึกซึ้ง ขึ้นอยู่กับพลังชีวิตและระดับจิตใจของแต่ละคน ต่อไปนี้ขอทุกท่านที่พึงประสงค์มีรักแท้ที่ยิ่งใหญ่ จงหมั่นฝึกฝนตนเองให้เป็นคนที่สื่อภาษาอย่างประเสริฐ ล้ำค่าและทรงพลัง ก็จะนำมาซึ่งความถูกต้องตรงตามเจตนา บนฐานของความจริงใจ สามารถสานสัมพันธ์กันได้ดียิ่งขึ้น และรักกันตราบนานเท่านาน ยั่งยืนสถาพร

ไม่มีความคิดเห็น: